กลับ Academic articles

การฉีดยาลดการอักเสบเข้าช่องเหนือไขสันหลัง

การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับภาพถ่ายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ช่วยในการวินิจฉัยระดับของกระดูกสันหลังและเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของความปวด การรักษาเบื้องต้นด้วยการประคับประคองอาการปวด เช่น รับประทานยาระงับปวด นอนพัก การทำกายภาพ และการดึงกระดูกสันหลัง ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการปวดมักจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางส่วนมีอาการเรื้อรังและไม่ตอบสนองกับการรักษาด้วยวิธีการประคับประคอง การฉีดยาลดการอักเสบเข้าช่องเหนือไขสันหลังหรือ epidural steroid injection (ESI) จึงมีบทบาทช่วยลดปวดและเป็นทางเลือกในการรักษาก่อนการผ่าตัด   


แสดงตำแหน่งของอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทระดับ L3-S1 

การฉีดยาลดการอักเสบเข้าช่องเหนือไขสันหลัง มีเป้าหมายเพื่อลดปวด ลดการรับประทานยาระงับปวด ฟื้นตัวจากอาการปวดได้เร็ว เพิ่มคุณภาพชีวิต และสามารถกลับไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ หัตถการดังกล่าวทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์ช่วยในการฉีดยา เพื่อให้การฉีดยามีประสิทธิภาพ แม่นยำ และปลอดภัย ใช้เวลาเฉลี่ยในการฉีดยาประมาณ 30 นาที ในห้องปลอดเชื้อ โดยไม่ต้องดมยาสลบ เข็มที่ใช้มีขนาดเท่ากับเข็มเจาะเลือด ยาที่ใช้ประกอบด้วยยาชาและยาสเตียรอยด์ ปริมาณ 3-5 มิลลิลิตรต่อระดับ (รูปที่ 2) หลังจากฉีดยาจะมีอาการขาอ่อนแรงจากฤทธิ์ยาชาประมาณ 1-2 ชั่วโมงซึ่งจะสังเกตอาการในห้องพักฟื้นประมาณ 1 ชั่วโมง และสามารถกลับบ้านได้ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ขับรถในวันที่ฉีดยาเนื่องจากอาจมีอาการขาอ่อนแรงได้ 

การฉีดยาลดการอักเสบเข้าช่องเหนือไขสันหลัง มีกลไกลดปวด คือ ยาสเตียรอยด์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในกระบวนการอักเสบ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของเส้นประสาทและบริเวณที่มีหมอนรองกระดูกยื่น จึงส่งผลให้ลดปวดได้ นอกจากนี้ ยาชาจะช่วยเจือจางสารการอักเสบบริเวณที่ปวดและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังเส้นประสาท ในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดกระดูกสันหลัง ยาชาและยาสเตียรอยด์จะมีผลช่วยสลายพังผืดบางส่วนของเนื้อเยื่อบริเวณที่เคยผ่าตัด 

ผลการฉีดยาช่วยลดอาการปวดได้นานประมาณ 3-4 เดือน มักได้ผลดีในผู้ป่วยที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือยื่น ประสิทธิภาพลดปวดได้ดีถึงร้อยละ 76-88 ผลลดปวดในระยะยาวขึ้นกับความรุนแรงของหมอนรองกระดูกที่ยื่น ถ้าระดับความรุนแรงน้อยและปานกลาง ระยะเวลาลดปวดได้นานเฉลี่ย 4.3 เดือน และ 2.5 เดือนตามลำดับ ผลการรักษาน้อยลงในผู้ป่วยที่มีการยื่นของหมอนรองกระดูกสันหลังที่รุนแรงมาก มีการตีบแคบของโพรงไขสันหลัง หรือเคยได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังมาก่อน ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรคกระดูกสันหลังในแต่ละบุคคล 

ข้อบ่งชี้การฉีดยาลดการอักเสบเข้าช่องเหนือไขสันหลังหรือ epidural steroid injection (ESI) พิจารณาทำในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง และ/หรือปวดร้าวลงขา ที่มีระดับความปวด (pain score) อย่างน้อย 4 จาก 10 คะแนน ไม่ตอบสนองกับการรักษาด้วยวิธีประคับประคอง ได้แก่ การรับประทานยาและทำกายภาพ (เป็นระยะเวลามากกว่า 6 สัปดาห์) และความปวดส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทางใดทางหนึ่ง  และได้รับการวินิจฉัย ดังต่อไปนี้  

  1. โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ได้แก่ disc herniation และ/หรือ degenerative disc disease หรือ discogenic pain
  2. โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (spinal canal stenosis) กระดูกสันหลังเสื่อมที่มีลักษณะ foraminal stenosis รวมทั้งกระดูกสันหลังเคลื่อน (spondylolisthesis) 
  3. อาการปวดหลังการผ่าตัด (post-laminectomy pain syndrome) 

มีการศึกษาแบบพบว่าการฉีดยาเข้าช่องเหนือไขสันหลังสามารถลดอัตราการผ่าตัดได้เล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรก ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขาซึ่งเกิดจาก disc herniation และ spinal stenosis เมื่อได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์มีอัตราการเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังร้อยละ 28.6 เปรียบเทียบกับการฉีดเฉพาะยาชาเพียงอย่างเดียวซึ่งเข้ารับการผ่าตัดร้อยละ 66.7 เมื่อติดตามไปเป็นระยะเวลา 13-28 เดือน

ภาพแสดงการกระจายของสารทึบแสงขณะฉีดยาสเตียรอยด์เข้าช่องเหนือไขสันหลัง

ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน พบได้น้อยและส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการปวดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ปวดเข็มร้อยละ 0.33 อาการชาร้อยละ 0.14 และอื่น ๆ (เช่น เลือดออกเฉพาะที่) ร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของยาสเตีอรอยด์ ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน 2-3 วันหลังฉีดยา ความดันโลหิตสูงและบวมน้ำได้ 1-2 สัปดาห์หลังฉีดยา และหากได้รับยาสเตียรอยด์ปริมาณมากเกินที่กำหนด (มากกว่า 3 ครั้งต่อปี) ส่งผลให้มีการกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้