ที่มาของคลีนิคระงับปวด
หลังการก่อตั้งแผนกวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พ.ศ. 2508 ขณะนั้นมีความขาดแคลนวิสัญญีแพทย์อย่างมาก จึงได้มีการฝึกฝนแพทย์ที่มีความสนใจสาขาวิชานี้ เพื่อทำงานเป็นวิสัญญีแพทย์ในเวลาต่อมา พ.ศ. 2510 ศาสตราจารย์นายแพทย์นิยม ฉิมะวงษ์ และศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ศริพร วณิเกียรติ ได้ริเริ่มให้มีการเรียนการสอนวิสัญญีวิทยาในลักษณะการบรรยายเป็นประจำ และการอภิปรายปัญหาผู้ป่วยให้แก่ศิษย์ในขณะนั้นซึ่งมีเพียง 3 คน ระยะต่อมาจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการเรียนการสอนเป็นระบบและเป็นสากลมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2516 ได้เริ่มเปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาทางวิสัญญีวิทยาอย่างเป็นทางการและมีหลักสูตรสอนแพทย์หลังปริญญา เพื่อประกาศนียบัตรชั้นสูงทางคลินิก สาขาวิสัญญีวิทยา ของบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตามจึงก่อให้เกิดหน่วยระงับปวด ในเวลาต่อมา ซึ่งความปวดเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้ผู้ป่วยมารับการรักษาในโรงพยาบาล การบำบัดความปวดมีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยทุกสาขา องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ความปวดเป็นสัญญาณชีพที่ 5 และเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ป่วยที่จะได้รับการบำบัดความปวดอย่างเหมาะสม การจัดการกับความปวดที่ไม่เหมาะสมนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนหรือโรคเรื้อรังที่ซับซ้อน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วย ครอบครัวและสังคมรอบด้าน วิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตเพิ่มขึ้นหรือมีอาการปวดซ้ำ เช่น โรคมะเร็ง ความปวดเรื้อรังหลังการผ่าตัด (post-surgical pain syndrome) อาการปวดจากภาวะแทรกซ้อนจากเคมีบำบัดและรังสีรักษา เป็นต้น นอกจากนี้ อุบัติการณ์ของโรคที่เกิดจากการทำงานหรือภาวะเสื่อมถอยของร่างกายเพิ่มขึ้น เช่น อาการปวดหลัง ปวดคอ หรือปวดข้อเรื้อรัง (chronic musculoskeletal pain) หรือความปวดเนื่องจากพยาธิสภาพของระบบประสาท (neuropathic pain)
แพทย์ทุกท่านเป็นแพทย์วิสัญญีวิทยาซึ่งศึกษาต่อยอดเฉพาะทางด้านการระงับปวดมาจากทั้งในและต่างประเทศ การระงับปวดของคลินิกระงับปวด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงเป็นการระงับปวดที่มีความชำนาญเฉพาะทางอย่างสูง