ปวดคอเรื้อรังเกิดจากอะไร
หากอ้างอิงจากโครงสร้างทางสรีระวิทยา จุดกำเนิดของอาการปวดบริเวณคอมีได้หลายตำแหน่ง ได้แก่
- ปวดจากกล้ามเนื้อเป็นอาการปวดต้นคอที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ความรุนแรงน้อยที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานกล้ามเนื้อคอที่ผิดท่าและนานเกินไป เช่น ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์เป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะเครียด ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็งได้โดยไม่รู้ตัว ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบจากการยืดหรือฉีกขาดของกล้ามเนื้อจากการเคลื่อนไหวที่รุนแรงและผิดทิศทางในอดีต นอกจากนี้ ภาวะกล้ามเนื้อคอแข็งเกร็งอาจพบร่วมหรือเป็นภาวะสืบเนื่องจากปัญหาของข้อกระดูกคอหรือไหล่ที่ไม่ได้รับการรักษา เช่น มะเร็ง กระดูกติดเชื้อ ข้อฟาเซทอักเสบ และ หมอนรองกระดูกเสื่อม เป็นต้น
- ปวดจากข้อฟาเซ็ต (Facet joint) เป็นสาเหตุที่มักถูกมองข้าม เนื่องจากเป็นที่รู้จักน้อย และต้องวินิจฉัยด้วยการฉีดยาเท่านั้น ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ข้อฟาเซ็ตคือข้อที่เชื่อมกระดูกสันหลังแต่ละระดับเข้าด้วยกัน (รูปที่ 1) ทำหน้าที่ในการขยับก้มเงยและให้ความแข็งแรงกับกระดูกสันหลัง ในท่าที่มีการก้มและเงยคอ จะมีแรงกระทำต่อข้อนี้มากที่สุด เมื่อมีการเสียดสีเป็นระยะเวลานาน ข้อก็จะค่อยๆเสื่อม เกิดการอักเสบภายในข้อ คล้ายกันกับปวดเข่าเสื่อม ลักษณะปวดคอเป็นแบบตื้อๆ ทั่วๆ ส่วนใหญ่เป็นข้างเดียวมากกว่าสองข้าง สามารถปวดร้าวขึ้นท้ายทอยศีรษะ หรือ ร้าวไปบ่า ไหล่และสะบักหลังได้ ขึ้นอยู่กับระดับของข้อที่มีปัญหา (รูปที่2) อาการมักเป็นมากขึ้นเมื่อเอนหรือหันศรีษะไปข้างเดียวกันกับด้านที่ปวด และสัมพันธ์กับการใช้งาน ภาวะปวดเรื้อรังอาจจะเป็นต่อเนื่องตลอดเวลาหรือ มีอาการกำเริบเป็นช่วงๆ แล้วหายได้เอง เนื่องจากเป็นโรคของความเสื่อมตามอายุและการใช้งาน จึงพบได้ทั้งเพศหญิงและชาย พบบ่อยในช่วงอายุ 40-70 ปี นอกจากนี้ ภาวะอักเสบของข้อฟาเซ็ตมักทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อคอบริเวณใกล้เคียง จึงทำให้วินิจฉัยผิดพลาดได้ และเข้าใจว่าเป็นปัญหาของกล้ามเนื้อ หรือออฟฟิศซินโดรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งประวัติ การตรวจร่างกายและภาพทางรังสีไม่สามารถใช้วินิจฉัยโรคนี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องฉีดยาเพื่อวินิจฉัยเท่านั้น
- ปวดจากโพรงกระดูกสันหลังคอตีบแคบมักพบในผู้สูงอายุวัย ส่วนมากเป็นผลจากภาวะกระดูกสันหลังคอเสื่อม ทำให้เกิดอักเสบของรากประสาทหรือไขสันหลัง พบร่วมกับอาการปวดร้าวลงแขนหรือมือได้บ่อย ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีภาวะชาหรือ อ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนหรือมือได้
- ปวดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอาการปวดคอมักมีร่วมกับปวดร้าวลงแขนหรือมือ ลักษณะความปวดจากเส้นประสาท คือปวดแปล๊บเหมือนไฟฟ้าช้อต หรือ แสบร้อน มักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง พบได้ในคนอายุน้อย สามารถหายได้เองในรายที่ความรุนแรงของโรคไม่มาก
- ปวดจากหมอนรองกระดูกเสื่อมพบได้น้อยเนื่องจากวิธีวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานไม่เป็นที่นิยมและมีภาวะแทรกซ้อนสูง อาการปวดมักเป็นตรงกลาง ปวดเยอะขึ้นเวลาก้มศีรษะ อาจพบร่วมกับอาการปวดร้าวลงแขนได้หากหมอนรองเคลื่อนตัวทับเส้นประสาท
- ปวดหลังผ่าตัดกระดูกคอเป็นภาวะปวดที่เกิดได้จากหลายสาเหตุแม้ผ่าตัดไปแล้ว เช่น กระดูกคอระดับใกล้เคียงเสื่อม หรือเกิดพังผืดในช่องโพรงเหนือไขสันหลัง เป็นภาวะที่รักษาได้ยาก ส่วนใหญ่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดซ้ำ ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ สามารถบรรเทาปวดได้โดยการฉีดยาหรือ ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่ไขสันหลัง
การวินิจฉัย
ภาวะเสื่อมของกระดูกคอในผู้สูงวัย อาจพบภาวะปวดได้จากหลายสาเหตุดังกล่าวร่วมกัน สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือความผิดปกติที่พบจากภาพรังสีเพียงอย่างเดียวบางครั้งก็อาจไม่ใช่จุดกำเนิดความปวด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการฉีดยาชาไปยังจุดที่สงสัยในผู้ป่วยบางราย ซึ่งอาจฉีดไปที่เส้นประสาท ข้อกระดูก หรือกล้ามเนื้อ หากฉีดแล้วหายปวดแสดงว่าจุดนั้นเป็นตำแหน่งที่ทำให้ปวด เมื่อสามารถวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงได้ จึงนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง และการให้คำแนะนำสำหรับการดูแลตนเองในระยะยาว ซึ่งเป็นการรักษาแบบยั่งยืนที่สุด เพราะการรับประทานยาเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ
อาการที่ต้องระวัง
อาการปวดคอที่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง อักเสบ หรือออฟฟิศซินโดรมส่วนใหญ่ มักจะหายไปได้เองด้วยการพักร่างกาย นวด หรือ ทำกายภาพบำบัด ปรับพฤติกรรมาการใช้งานของกล้ามเนื้อ หรือรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ อาการก็หมดไป ส่วนกรณีที่ปวดแล้วจะต้องมาพบแพทย์ได้แก่
- ปวดคอนานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป ไม่ดีขึ้นจากการรับประทานยาหรือกายภาพบำบัด
- ชาอ่อนแรงที่มือหรือขาร่วมด้วย
- ปวดรุนแรงจนรบกวนการดำเนินชีวิต
การรักษา
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าอาการปวดคอนั้นมาจากกระดูกหรือกล้ามเนื้อ หรือทั้งสองสาเหตุร่วมกัน โดยสามารถใช้วิธีการรักษาหลายๆ อันร่วมกัน ขึ้นอยู่กับโรคที่วินิจฉัย ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์
- การทำกายภาพบำบัด มีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การการนวด การใช้คลื่นกระแทก (shockwave therapy) เพื่อคลายการเกร็งของกล้ามเนื้อ การใช้ไฟฟ้ากระตุ้น (TENS) การดึงคอเพื่อทำให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังกว้างขึ้น ลดการกดทับเส้นประสาท ช่วยยืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เป็นต้น
- การรักษาด้วยยา แพทย์จะให้ยาแก้ปวดตามความรุนแรงของอาการ ในบางรายอาจได้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาคลายกังวลร่วมด้วยตามสาเหตุของโรค
- การฝังเข็มใช้รักษาภาวะปวดจากกล้ามเนื้อเป็นหลัก มีแบบจีน (acupuncture) และแบบตะวันตก (dry needling)
- การฉีดยาเป็นวิธีรักษาที่จำเพาะต่อบางโรคเท่านั้น ตำแหน่งที่ฉีดขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ได้แก่
- ฉีดกล้ามเนื้อจุดที่แข็งเกร็ง (trigger point injection) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด และให้หายไวขึ้น
- ฉีดยาสเตียรอยด์และยาชา ตำแหน่งรากประสาท หรือฉีดเข้าโพรงกระดูกสันหลังคอ เพื่อบรรเทาอาการปวดร้าวไปแขน ที่เกิดจากภาวะบาดเจ็บของเส้นประสาท จากการถูกกดทับจากหมอนรองกระดูกหรือโพรงกระดูกสันหลังคอตีบแคบ ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง และตอบสนองน้อยต่อยาชนิดรับประทาน ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ร่วมกับการใช้เครื่องเอกซเรย์เพื่อหาตำแหน่งฉีดยา
- ฉีดรักษาข้อฟาเซ็ต โดยการฉีดยาชาและสเตียรอยด์ไปยังตำแหน่งเส้นประสาทที่รับความรู้สึกจากข้อฟาเซ็ต โดยทั่วไปจะใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ช่วยหาตำแหน่งฉีด ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 30 – 60 นาที ในห้องปลอดเชื้อ โดยไม่ต้องดมยาสลบ หลังฉีดยาและพักฟื้นที่ห้องสังเกตอาการ จึงสามารถกลับบ้านได้
- การจี้คลื่นความถี่วิทยุไปยังเส้นประสาทใช้รักษาภาวะปวดจากโรคข้อฟาเซ็ตเสื่อม ในกรณีที่ปวดบ่อยและการฉีดยาออกฤทธิ์สั้น โดยแพทย์จะทำการจี้คลื่นไปยังเส้นประสาท เพื่อให้มีฤทธิ์ระงับปวดได้ยาวนานขึ้น ส่วนใหญ่ระงับปวดได้นานหลักเดือน หรือถึงปีในบางราย ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องจี้ และพยาธิสภาพของโรค
- การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่ไขสันหลังใช้รักษาภาวะปวดคอร้าวลงแขนชนิดรุนแรง ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทานยา ฉีดยา หรือการผ่าตัด และรักษาภาวะปวดจากพังผืดกดทับเส้นประสาทที่เกิดตามหลังการผ่าตัด เป็นต้น
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เช่น มีอาการทางระบบประสาท จากการถูกกดทับของรากประสาทหรือไขสันหลัง แพทย์ผ่าตัดเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังจะประเมินซ้ำอีกครั้งว่าถึงเวลาที่จะผ่าตัดเมื่อไร
การป้องกัน
- ทำกายบริหารอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบคอแข็งแรงขึ้น ทั้งท่ายืดและท่าเกร็งกล้ามเนื้อ หรือการเล่นโยคะ
- หลีกเลี่ยงการก้มหน้า หรืออยู่ในอิริยาบทเดียวนานๆ ควรลุกเดิน หรือยืดเส้นยืดสาย อย่างน้อยทุก ๆ ชั่วโมงที่นั่งเป็นระยะเวลานาน เพื่อยืดกล้ามเนื้อและลดแรงกดทับไปที่กระดูกสันหลัง หากไม่มีการปรับท่าทางระหว่างการทำงาน หรือเกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นจะมีการเสื่อมของกระดูกสันหลังตามมาจนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง
- จัดท่านั่งทำงานให้เหมาะสม โดยให้จอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา
- หลีกเลี่ยงการแบกของหนักไว้บนหลังและไหล่ เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังเสื่อม
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากภาวะอ้วนสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ปวดคอเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้น
- เลือกหมอนที่รองรับส่วนโค้งเว้าของคอ และอยู่ในระดับที่พอดี ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป
ที่มา
- Steven P. Cohen, Epidemiology, Diagnosis, and Treatment of Neck Pain, Mayo Clinic Proceedings, Volume 90, Issue 2, 2015, Pages 284-299, ISSN 0025-6196, https://doi.org/10.1016/j.mayocp.2014.09.008.
- Borenstein DG. Chronic neck pain: how to approach treatment. Curr Pain Headache Rep. 2007 Dec;11(6):436-9. doi: 10.1007/s11916-007-0230-4. PMID: 18173978.
- Baird TA, Karas CS. The use of high-dose cervical spinal cord stimulation in the treatment of chronic upper extremity and neck pain. Surg Neurol Int. 2019;10:109. Published 2019 Jun 19. doi:10.25259/SNI-249-2019