อาการปวดศีรษะเรื้อรังโดยส่วนใหญ่แล้วแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆคือ
- ปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (primary headache) ไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอย่างแน่ชัด ส่วนใหญ่แบ่งตามตำแหน่งที่ปวดและลักษณะการปวด ตัวอย่างโรคปวดศีรษะในประเภทนี้ได้แก่ ไมเกรน ( migraine) ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) และโรคปวดศีรษะจากความเครียดเรื้อรัง (chronic tension type) เป็นต้น โดยการรักษาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการอันได้แก่ การให้ยารับประทานลดปวด การให้ยาเพื่อป้องกันการเกิด ในกรณีที่ไม่สามารถคุมความปวดได้ การฉีดยาเพื่อระงับการส่งสัญญาณความปวดจากเส้นประสาทเฉพาะที่*เป็นอีกทางเลือกนึงที่อาจสามารถทำได้ (*ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยทุกรายและอาจไม่ตอบสนองต่อผลการรักษาในคนไข้ทุกราย)
- ปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ (secondary headache) มักมีสาเหตุมาจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ หรือมีภาวะนำอันเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดหัว เช่น ปวดศีรษะจากมะเร็งลุกลามเข้าไปในสมอง หรือปวดศีรษะจากการติดเชื้อในระบบประสาท เป็นต้น โดยส่วนใหญ่การรักษาของปวดศีรษะแบบนี้ คือการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น การรักษาโดยการฉายแสงในภาวะมะเร็งลุกลาม หรือ การให้ยาปฏิชีวนะในภาวะติดเชื้อนั่นเอง
สัญญาณที่แสดงว่าเป็นการปวดศีรษะที่ไม่ปกติและควรไปพบแพทย์ (red flag sign)
- ปวดหัวรุนแรงแบบทันที ไม่เคยมีอาการมาก่อน อาจเกิดจากสาเหตุเช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ปวดหัว มีอาการตามัว หรือมีอาการชา แขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย อาจเกิดจากสาเหตุเช่นมีการติดเชื้อ มีการเพิ่มของความดันในกะโหลดศีรษะหรือมีก้อนไปกดเบียดเนื้อสมอง
- ปวดหัวชนิดที่ไม่เหมือนเดิม แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือมีอาการร่วมที่แปลกไป เช่นอาเจียนมากขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุใหม่ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
- ปวดหัว ทานยาแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรือทานยาอยู่แล้วมีอาการปวดศีรษะมากขึ้น อาจเกิดจากการใช้ยาที่มากเกินไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงของโรคที่เป็นอยู่ได้
- ปวดหัวในบริเวณบาดเจ็บที่ศีรษะ (ส่วนใหญ่เป็นภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังมีการบาดเจ็บ) เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการที่มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้
- อาการปวดศีรษะที่เป็นมาใหม่ ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง ได้แก่ โรคมะเร็งต่างๆ หรือ HIVs เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่ามีการลุกลามของโรคหรือการติดเชื้อเกิดขึ้น และในคนตั้งครรภ์เนื่องจากเป็นสัญญาณของอาการความดันโลหิตสูงหรือครรภ์เป็นพิษในคนตั้งครรภ์ได้
ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีอาการปวดหัวเรื้อรัง
- หากมีอาการเหมือนสัญญาณที่กล่าวมาข้างต้น (red flag sign) ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
- นำยาที่รับประทานเพื่อลดปวด หรือยาโรคประจำตัวที่ได้รับไปด้วยทุกครั้งที่พบแพทย์
- จดจำหรือบันทึกลักษณะอาการปวดศีรษะ ความถี่ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะ หรืออาการร่วมอื่นๆที่เกิดขึ้นขณะมีอาการปวดศีรษะ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย
อ้างอิง
- Do, Thien Phu, et al. “Red and Orange Flags for Secondary Headaches in Clinical Practice.” Neurology, vol. 92, no. 3, 2018, pp. 134–144., doi:10.1212/wnl.0000000000006697.
- Rizzoli P, Mullally WJ. Headache. Am J Med. 2018 Jan;131(1):17-24. doi: 10.1016/j.amjmed.2017.09.005. Epub 2017 Sep 20. PMID: 28939471.
- May A. Hints on Diagnosing and Treating Headache. Dtsch Arztebl Int. 2018 Apr 27;115(17):299-308. doi: 10.3238/arztebl.2018.0299. PMID: 29789115; PMCID: PMC5974268.