กลับ Academic articles

อาการปวดคอ

ออฟฟิศซินโดรม” (office syndrome) อีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนทำงานและวัยรุ่นยุคใหม่ที่มีวิถีชีวิตและการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเกือบตลอดทั้งวัน โดยนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน หรือมีการก้มคอขณะใช้โทรศัพท์มือถือเกือบตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดอาการปวดคอ ปวดไหล่ และปวดหลังตามมา สร้างความทุกข์ทรมานให้กับการดำเนินชีวิตประจำวันและส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง 

อาการปวดคอจากโรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่ไม่สมดุลหรือไม่เหมาะสม การรักษาหลัก คือ การป้องกัน โดยการปรับพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อและปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม การรักษาเบื้องต้น ได้แก่ การรับประทานยากลุ่มลดการอักเสบหรือยาคลายกล้ามเนื้อ การทำกายบริหารด้วยตนเองเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อคอและหลังให้แข็งแรง และการประคบอุ่นหรือการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดปวด โดยทั่วไป อาการปวดที่มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อมักจะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ในกรณีที่อาการปวดคอไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดคอเรื้อรังนานเกิน 3 เดือน สาเหตุที่ปวดอาจมีภาวะกระดูกคอเสื่อมร่วมด้วย จึงแนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางด้านการระงับปวดเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา 

ภาวะปวดคอเรื้อรัง คือ อาการปวดคอมากกว่า 3 เดือน สาเหตุที่ทำให้ปวด ได้แก่ หมอนรองกระดูกคอเสื่อมจนมีการยื่นไปกดเส้นประสาทคอหรือไขสันหลัง กระดูกข้อต่อฟาเซ็ตคอเสื่อม หรือการบาดเจ็บเรื้อรังของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อบริเวณต้นคอ โดยทั่วไป ในทางการแพทย์จะแบ่งอาการปวดคอเป็น 2 ลักษณะ คือ อาการปวดคอเด่น (axial neck pain) และอาการปวดคอร่วมกับปวดร้าวไปต้นแขน แขน หรือนิ้วมือ (radicular neck pain) ทั้งนี้ ลักษณะและตำแหน่งของอาการปวด (รูปที่ 1 และ 2) การตรวจร่างกายเกี่ยวกับกำลังกล้ามเนื้อแขนและการเคลื่อนไหวของคอ ร่วมกับภาพถ่ายทางรังสี เช่น ภาพเอกซเรย์ ภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging; MRI) จะช่วยในการวินิจฉัยโรค การรักษาขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้ปวด โดยเบื้องต้นจะแนะนำให้รับประทานยาลดปวดที่ออกฤทธิ์เฉพาะต่อเส้นประสาทคอหรือกระดูกข้อต่อคอ ร่วมกับการทำกายภาพ เช่น การดึงคอ (กรณีที่สาเหตุเกิดจากหมอนรองกระดูกคอยื่น) และการบริหารกล้ามเนื้อคอ  

หากอาการปวดไม่ดีขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน จึงพิจารณาการรักษาด้วยการฉีดยาไปยังตำแหน่งของเส้นประสาทหรือข้อต่อคอที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของความปวด เรียกว่า การทำหัตถการบำบัดความปวด หรือ เพนอินเตอร์เวนชั่น (pain intervention)  

รูปที่ 1 ตำแหน่งความปวดที่เกิดจากข้อต่อฟาเซ็ตคอแต่ละระดับ

รูปที่ 2 ตำแหน่งของอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทคอระดับ C5-C8 (ซ้ายบน) เส้นประสาทระดับ C5 อาการปวดคอร้าวไปยังด้านใน (medial) ของสะบักหลัง หรือด้านนอกของต้นแขนและสิ้นสุดที่ข้อศอก (ขวาบน) เส้นประสาทระดับ C6 อาการปวดคอร้าวไปยังด้านในของสะบักหลัง ด้านนอกของแขน และสิ้นสุดที่นิ้วโป้งและ/หรือนิ้วชี้ (ซ้ายล่าง) เส้นประสาทระดับ C7 อาการปวดคอร้าวไปยังด้านในของสะบักหลัง ด้านข้างของต้นแขนและแขน และสิ้นสุดที่นิ้วกลาง (ขวาล่าง) เส้นประสาทระดับ C8 อาการปวดคอบริเวณบ่า ร้าวไปยังด้านหลังของแขน และสิ้นสุดที่นิ้วนางและ/หรือก้อย

การฉีดยาชาเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของภาวะปวดคอเรื้อรัง (diagnostic injection)

  1. การฉีดยาชาไปยังเส้นประสาทฝอยของข้อต่อฟาเซ็ตคอ (medial branch block) เพื่อวินิจฉัยสาเหตุความปวดที่เกิดจากกระดูกข้อต่อฟาเซ็ตคอเสื่อม (cervical facet joints) มักทำในผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอเด่น และไม่พบอาการปวดร้าวไปยังสะบัก แขน หรือนิ้วมือ การฉีดยาชาจะใช้เครื่องอัลตราซาวน์เพื่อช่วยในการกำหนดตำแหน่งเข็ม ทำให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย โดยยาที่ฉีดจะใช้เฉพาะยาชา เช่น ลิโดเคน (lidocaine) หรือบูพิวาเคน (bupivacaine) และไม่ผสมยาสเตียรอยด์ 
  2. การฉีดยาชาไปยังรากประสาทคอระดับที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของความปวด (selective cervical nerve root block) เพื่อวินิจฉัยสาเหตุความปวดที่เกิดจากหมอนรองกระดูกคอเสื่อมร่วมกับมีการยื่นไปกดเบียดเส้นประสาท มักทำในผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอร่วมกับปวดร้าวไปยังสะบัก ต้นแขน แขน หรือนิ้วมือ การฉีดยาจะใช้เครื่องอัลตราซาวน์เพื่อช่วยในการกำหนดตำแหน่งเข็ม ทำให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย โดยยาที่ฉีดจะใช้เฉพาะยาชา เช่น ลิโดเคน (lidocaine) หรือบูพิวาเคน (bupivacaine) ร่วมกับยาสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดการอักเสบของรากประสาทด้วย 

การทำหัตถการบำบัดความปวดเพื่อการรักษาอาการปวดคอเรื้อรัง (therapeutic pain intervention)

  1. การจี้เส้นประสาทฝอยของข้อต่อฟาเซ็ตคอด้วยความร้อน (medial branch thermal radiofrequency treatment) พิจารณาทำเมื่อได้การวินิจฉัยเป็นที่แน่ชัดว่าภาวะปวดคอเรื้อรังเกิดจากข้อต่อฟาเซ็ตคอเสื่อม โดยการใช้เข็มลักษณะพิเศษต่อกับเครื่องกำเนิดคลื่นวิทยุ (radiofrequency machine; RF) เพื่อปล่อยความร้อนไปทำให้เส้นประสาทฝอยฝ่อ ส่งผลให้ลดอาการปวดคอได้ ผลการรักษาคงอยู่ประมาณ 9-12 เดือน1-3 
  2. การกระตุ้นรากประสาทคอด้วยคลื่นวิทยุ (pulsed radiofrequency treatment) พิจารณาทำเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าภาวะปวดคอเรื้อรังเกิดจากหมอนรองกระดูกคอกดเบียดเส้นประสาท แต่ไม่พบอาการกล้ามเนื้อแขนหรือมืออ่อนแรง โดยการใช้เข็มลักษณะพิเศษต่อกับเครื่องกำเนิดคลื่นวิทยุ (radiofrequency machine; RF) เพื่อปล่อยพลังงานคล้ายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปยังรากประสาทคอระดับที่เป็นสาเหตุของความปวด เพื่อเหนี่ยวนำให้รากประสาทนั้น ๆ นำกระแสประสาทความปวดลดลง ส่งผลให้ลดอาการปวดได้4 ผลการรักษาคงอยู่ประมาณ 6-9 เดือน5-6 อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดคอเรื้อรังที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกคอหลายระดับ แพทย์จะพิจารณาฉีดยาชาร่วมกับยาสเตียรอยด์เข้าช่องเหนือดูรา หรือ epidural steroid injection (ESI) แทนการกระตุ้นรากประสาทคอ 

สรุปอาการปวดคอเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อให้การรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับรอยโรค ส่งผลให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.Lord SM, Barnsley L, Wallis BJ, McDonald GJ, Bogduk N. Percutaneous radio-frequency neurotomy for chronic cervical zygapophyseal-joint pain. The New England journal of medicine. 1996;335(23):1721-6.

2.MacVicar J, Borowczyk JM, MacVicar AM, Loughnan BM, Bogduk N. Cervical medial branch radiofrequency neurotomy in New Zealand. Pain medicine (Malden, Mass). 2012;13(5):647-54.

3.Falco FJ, Manchikanti L, Datta S, Wargo BW, Geffert S, Bryce DA, et al. Systematic review of the therapeutic effectiveness of cervical facet joint interventions: an update. Pain physician. 2012;15(6):E839-68

4.Chua NH, Vissers KC, Sluijter ME. Pulsed radiofrequency treatment in interventional pain management: mechanisms and potential indications-a review. Acta Neurochir (Wien). 2011;153(4):763-71.

5.Wang F, Zhou Q, Xiao L, Yang J, Xong D, Li D, et al. A Randomized Comparative Study of Pulsed Radiofrequency Treatment With or Without Selective Nerve Root Block for Chronic Cervical Radicular Pain. Pain Pract. 2017;17(5):589-95.

6.Kwak SG, Lee DG, Chang MC. Effectiveness of pulsed radiofrequency treatment on cervical radicular pain: A meta-analysis. Medicine (Baltimore). 2018;97(31):e11761.