กลับ Academic articles

ภาวะข้อไหล่เสื่อม

คือ ภาวะเสื่อมของกระดูกอ่อนที่หุ้มหัวกระดูกข้อไหล่และเบ้า ทำให้ช่องว่างในข้อแคบลงจนกระดูกทั้งสองด้านมาเสียดสีกัน ก่อให้เกิดการอักเสบ ปวด และขยับไหล่ได้น้อยลง 

สาเหตุของข้อไหล่เสื่อม

  1. เสื่อมตามอายุ มักพบในคนสูงวัย ที่เคยใช้งานข้อไหล่หนักมาก่อน
  2. ข้ออักเสบ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาท์ โรคSLE ซึ่งการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ ส่งผลให้กระดูกอ่อนผิวข้อเสื่อมกลายเป็นภาวะข้อไหล่เสื่อมในที่สุด 
  3. ขาดเลือดไปเลี้ยงกระดูกหัวไหล่ตามหลังการติดเชื้อข้อไหล่
  4. อุบัติเหตุของข้อไหล่ เช่น กระดูกหัก ข้อไหล่หลุด ทำให้เกิดข้อไหล่เสื่อมได้เร็วกว่าปกติ
  5. เส้นเอ็นรอบข้อไหล่ (Rotator Cuff) ฉีกขาดเป็นเวลานาน ทำให้หัวกระดูกเลื่อนขึ้นด้านบน ไม่ได้อยู่กลางเบ้าเช่นเดิม เกิดการขบกันของหัวกระดูกกับขอบเบ้าด้านบนเวลาเคลื่อนไหวข้อ เป็นเหตุให้ผิวข้อเสื่อมเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดการรั่วออกของน้ำไขข้อ ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อขาดน้ำหล่อเลี้ยงและเสื่อมได้เร็ว 

อาการ

ปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อไหล่ ขยับแล้วมีเสียง มักปวดตอนกลางคืนเวลานอน เคลื่อนไหวข้อได้น้อยลง หรือไหล่ติด ในรายที่ไม่เคลื่อนไหวข้อเป็นเวลานาน อาจพบกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ฟ่อลีบและอ่อนแรงร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์เมื่อมีภาวะปวดที่มากกว่า 2 สัปดาห์ หรือ ขยับไหล่ได้น้อยลงจนรบกวนการดำเนินชีวิต

การวินิจฉัย

ต้องอาศัยการตรวจร่างกายร่วมกับภาพรังสีเอ็กซเรย์ธรรมดา หรือ เอ็กซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าในบางราย 

การรักษา

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อไหล่ในชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการปวดไหล่
  2. ประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวดและภาวะตึงของกล้ามเนื้อ  
  3. กายภาพบริหารข้อไหล่ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น การเคลื่อนไหวของข้อ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อไม่ให้ทำผิดท่าจนเกิดความเจ็บปวด
  4. ยารับประทานได้แก่ ยาลดอาการปวดและอักเสบกลุ่ม NSAIDs ส่วนยาบำรุงผิวข้อ (Glucosamine, Chondroitin) ในบางวิจัยรายงานว่าสามารถลดอาการปวดและ ชะลอการเสื่อมได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าใช้ได้ผลจริง 
  5. การฉีดยาเข้าข้อไหล่ ได้แก่ 
    1. 5.1.ยาสเตียรอย์ ช่วยลดอาการอักเสบของข้อไหล่ ทำให้อาการปวดลดลง ซึ่งจะได้ผลดีในกรณีที่ปวดรุนแรงและกลไกที่เกิดจากการอักเสบภายในข้อ ส่วนใหญ่จะได้ผลในระยะสั้นประมาณ 1-3 เดือน
    2. 5.2.น้ำหล่อเลี้ยงไฮยาลูรอน สามารถลดอาการปวดได้ในระยะสั้นประมาณ 6 เดือน ส่วนผลในระยะยาว รวมถึงจำนวนครั้งของการฉีดและข้อบ่งชี้ในการฉีดยังไม่ชัดเจน
    3. 5.3.การฉีดยาชาไปยังเส้นประสาทรับความรู้สึก ช่วยลดอาการปวดไหล่ได้ดี ในรายที่อาการปวดรุนแรงมาก แม้จะรักษาด้วยยาทานแล้วก็ตาม ระยะเวลาออกฤทธิ์ไม่ชัดเจน อาจอยู่ได้หลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน สามารถทำซ้ำได้ และไม่มีผลเสียในระยะยาว แต่ไม่ได้รักษาพยาธิสภาพของตัวโรค
  6. จี้คลื่นความถี่วิทยุไปยังเส้นประสาทรับความรู้สึกใช้บรรเทาอาการปวดไหล่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดด้านการผ่าตัด หรือ การผ่าตัดไม่สามารถแก้ไขภาวะปวดไหล่ได้ ออกฤทธิ์ได้นานหลายเดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของเข็มจี้และความรุนแรงของโรค
  7. การผ่าตัดใช้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ดีขึ้น ซึ่งการผ่าตัดรักษาข้อไหล่เสื่อมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอายุของคนไข้ สาเหตุโรคของข้อไหล่เสื่อม และความรุนแรงของการเสื่อม แบ่งออกเป็นการผ่าตัดแบบไม่เปลี่ยนข้อ และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม
  8. การรักษาทางเลือกเช่น การฝังเข็ม

วิธีป้องกัน

  1. รักษาโรคที่เป็นสาเหตุของข้อไหล่เสื่อมเช่น การทานยารักษาโรคข้อรูมาตอยด์และควบคุมให้อยู่ในระยะสงบให้มากที่สุดเพื่อลดการอักเสบและชะลอภาวะเสื่อมของข้อ การฉีดเกร็ดเลือดเพื่อซ่อมแซมเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่ฉีกขาดหรือการผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นขนาดใหญ่ เป็นต้น

ที่มา

  1. Thomas M, Bidwai A, Rangan A, et al. Glenohumeral osteoarthritis. Shoulder Elbow. 2016;8(3):203-214. doi:10.1177/1758573216644183