กลับ Academic articles

ปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะเรื้อรังโดยส่วนใหญ่แล้วแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆคือ

  1. ปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (primary headache) ไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอย่างแน่ชัด ส่วนใหญ่แบ่งตามตำแหน่งที่ปวดและลักษณะการปวด ตัวอย่างโรคปวดศีรษะในประเภทนี้ได้แก่ ไมเกรน ( migraine)  ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) และโรคปวดศีรษะจากความเครียดเรื้อรัง (chronic tension type) เป็นต้น โดยการรักษาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการอันได้แก่ การให้ยารับประทานลดปวด การให้ยาเพื่อป้องกันการเกิด ในกรณีที่ไม่สามารถคุมความปวดได้ การฉีดยาเพื่อระงับการส่งสัญญาณความปวดจากเส้นประสาทเฉพาะที่*เป็นอีกทางเลือกนึงที่อาจสามารถทำได้ (*ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยทุกรายและอาจไม่ตอบสนองต่อผลการรักษาในคนไข้ทุกราย)
  1. ปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ (secondary headache) มักมีสาเหตุมาจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ หรือมีภาวะนำอันเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดหัว เช่น ปวดศีรษะจากมะเร็งลุกลามเข้าไปในสมอง หรือปวดศีรษะจากการติดเชื้อในระบบประสาท เป็นต้น โดยส่วนใหญ่การรักษาของปวดศีรษะแบบนี้ คือการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น การรักษาโดยการฉายแสงในภาวะมะเร็งลุกลาม หรือ การให้ยาปฏิชีวนะในภาวะติดเชื้อนั่นเอง

สัญญาณที่แสดงว่าเป็นการปวดศีรษะที่ไม่ปกติและควรไปพบแพทย์ (red flag sign)

  1. ปวดหัวรุนแรงแบบทันที ไม่เคยมีอาการมาก่อน อาจเกิดจากสาเหตุเช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  2. ปวดหัว มีอาการตามัว หรือมีอาการชา แขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย อาจเกิดจากสาเหตุเช่นมีการติดเชื้อ มีการเพิ่มของความดันในกะโหลดศีรษะหรือมีก้อนไปกดเบียดเนื้อสมอง
  3. ปวดหัวชนิดที่ไม่เหมือนเดิม แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือมีอาการร่วมที่แปลกไป เช่นอาเจียนมากขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุใหม่ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
  4. ปวดหัว ทานยาแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรือทานยาอยู่แล้วมีอาการปวดศีรษะมากขึ้น อาจเกิดจากการใช้ยาที่มากเกินไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงของโรคที่เป็นอยู่ได้
  5. ปวดหัวในบริเวณบาดเจ็บที่ศีรษะ (ส่วนใหญ่เป็นภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังมีการบาดเจ็บ) เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการที่มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้
  6. อาการปวดศีรษะที่เป็นมาใหม่ ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง ได้แก่ โรคมะเร็งต่างๆ หรือ HIVs เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่ามีการลุกลามของโรคหรือการติดเชื้อเกิดขึ้น และในคนตั้งครรภ์เนื่องจากเป็นสัญญาณของอาการความดันโลหิตสูงหรือครรภ์เป็นพิษในคนตั้งครรภ์ได้

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีอาการปวดหัวเรื้อรัง

  1. หากมีอาการเหมือนสัญญาณที่กล่าวมาข้างต้น (red flag sign) ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
  2. นำยาที่รับประทานเพื่อลดปวด หรือยาโรคประจำตัวที่ได้รับไปด้วยทุกครั้งที่พบแพทย์ 
  3. จดจำหรือบันทึกลักษณะอาการปวดศีรษะ ความถี่ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะ หรืออาการร่วมอื่นๆที่เกิดขึ้นขณะมีอาการปวดศีรษะ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

อ้างอิง

  1. Do, Thien Phu, et al. “Red and Orange Flags for Secondary Headaches in Clinical Practice.” Neurology, vol. 92, no. 3, 2018, pp. 134–144., doi:10.1212/wnl.0000000000006697. 
  2. Rizzoli P, Mullally WJ. Headache. Am J Med. 2018 Jan;131(1):17-24. doi: 10.1016/j.amjmed.2017.09.005. Epub 2017 Sep 20. PMID: 28939471.
  3. May A. Hints on Diagnosing and Treating Headache. Dtsch Arztebl Int. 2018 Apr 27;115(17):299-308. doi: 10.3238/arztebl.2018.0299. PMID: 29789115; PMCID: PMC5974268.