กลับ Academic articles

ปวดก้น (buttock pain)

อาการปวดก้นมักเป็นอาการที่แพทย์กับคนไข้เข้าใจกันผิดอยู่เสมอ เนื่องจากก้นเป็นบริเวณที่มีความกว้างมาก และมีกล้ามเนื้อ หรือกระดูกรวมถึงอวัยวะอยู่หลายอย่างด้วยกัน นอกจากนั้นในผู้สูงอายุก้นจะรวมไปถึงบริเวณสะโพกด้วย จึงทำให้มีสาเหตุมากมายที่ทำให้มีอาการปวดก้นได้

  ก้นประกอบด้วยอวัยวะแต่กระดูกคร่าวๆได้ดังนี้คือ

  1. กล้ามเนื้อต่างๆ เช่นกล้ามเนื้อกลูเตียส กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส เป็นต้น
  2. กระดูกและข้อต่อต่างๆ เช่นกระดูกเชิงกราน กระดูกต้นขา  ข้อต่ออุ้งเชิงกราน  กระดูกก้นกบ เป็นต้น
  3. เส้นประสาทใหญ่ๆที่วิ่งผ่านเช่น รากประสาทและเส้นประสาทไซอาติก เป็นต้น
  4. อวับวะที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานต่างๆ เช่นลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มดลูก เป็นต้น

 สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดก้นสามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆได้ดังนี้

  1. จากอุบัติเหตุต่างๆ เช่นหกล้มก้นกระแทก รถชน ตกจากที่สูงเป็นต้น โดยส่วนใหญ่อาการปวดก้นจากสาเหตุนี้มักเป็นการบาดเจ็บของกระดูกและกล้ามเนื้อ ตัวอย่างเช่น กระดูกก้นกบหัก หรือกระดูกกระโพกหรือกระดูกเชิงกรานหัก เป็นต้น
  2. จากมะเร็งหรือเนื้องอก อาการปวดก้นจากสาเหตุนี้เป็นได้มากมาย เช่นปวดกระดูกบริเวณก้น สะโพก หรือ เชิงกรานจากการที่มะเร็งกระจายไปที่กระดูก ปวดบริเวณก้อนหรือกล้ามเนื้อที่มีการเติบโตของมะเร็ง หรือปวดจากอวัยวะภายในที่มะเร็งกระจายไปหรืออยู่เช่นลำไส้ส่วนปลาย เป็นต้น โดยทั่วไปคนไข้ที่มีอาการปวดจากสาเหตุนี้มักมีโรคมะเร็งนำมาก่อนหรือคลำได้ก้อนที่โตผิดปกติ
  3. จากการเสื่อมหรือการใช้งาน เช่น กระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมทำให้มีอาการปวดก้นร้าวลงขา จากกระดูกข้อเชิงกราน (SI joint) เสื่อมหรือมีกล้ามเนื้อปวดเกร็งจากการใช้งานหรือการอักเสบเป็นต้น
  4. จากการติดเชื้อและการอักเสบต่างๆ เช่น กระดูกสะโพกอักเสบหรือติดเชื้อ หรือมีฝีหรือหนองบริเวณกล้ามเนื้อก้น เป็นต้น โดยสาเหตุนี้มักมาด้วยอาการมีไข้ หรือมีอักเสบบวมแดงร้อนบริเวณที่มีอาการปวด
  5. เป็นแต่กำเนิด เช่นมีการเจริญของกระดูกหรือกระดูกสันหลังผิดปกติ โดยมักมีอาการมาตั้งแต่เล็กๆ จึงมีไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้

 โรคที่พบบ่อยและแนวทางการรักษา

1. กระดูกหลังส่วนล่างเสื่อม (วงสีเขียว) ส่วนใหญ่การปวดจากโรคนี้มักเริ่มปวดตั้งแต่หลังส่วนล่าง หรือก้นส่วนบนๆ ถ้าไม่มีการกดทับเส้นประสาทจะมีอาการปวดบริเวณหลังมักเป็นค่อนออกมาทางด้านข้าง อาจเกิดจากข้อต่อกระดูกฟาเซตมีการอักเสบ หรือหากมีอาการร้าวลงขา อาจเกิดจากมีการกดทับหรืออักเสบของเส้นประสาทหรือรากประสาทของกระดูกสันหลังบริเวณนั้น อาจไม่สามารถระบุจุดกดเจ็บที่ชัดเจนได้ หากปวดเส้นประสาทมักจะสามารถระบุตำแหน่งที่ร้าวลงขาได้ว่าเป็นด้านหน้า ด้านข้างหรือด้านหลังขา

  • หากอาการปวดไม่เยอะมากนักอาจใช้การรักษาโดยการใช้ยาต่างๆ เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยาแก้ปวดกล้ามเนื้อที่มักรู้จักกัน (NSAIDs and COX2 inhibitor) ยาพาราเซตามอล (acetaminophen) หรือกลุ่มแก้ปวดประเภทมอร์ฟีนอย่างอ่อน ได้แก่ ธามาดอล (tramadol) หรือโคดีอีน (codeine) เป็นต้น >> ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการประเมินและปรับยา 
  • ทำกายภาพเพื่อทกให้กล้ามเนื้อหลังมีความแข็งแรงขึ้น รวมถึงวิธีการเดินและท่าทางที่ถูกต้องซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ > > ปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • หากมีอาการปวดมาก หรือมีอาการอ่อนแรงของขาร่วมด้วย อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อลดการกดทับของเส้นประสาท >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ
  • หัตถการระงับปวดต่างๆเช่น การฉีดยาชาและสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบของเส้นประสาท ด้วยวิธีต่างๆ (interlaminar ESI/transforaminal ESI/caudal ESI) มักทำในกรณีที่ยังไม่ต้องผ่าตัดแต่มีอาการปวดหรือไม่สามารถผ่าตัดได้ >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการประเมิน 

2. ปวดข้อสะโพก (วงสีน้ำเงิน) ตำแหน่งที่ปวดจะออกมาทางก้นด้านข้าง อาจมีร้าวมาบริเวณขาหนีบได้ มักปวดมากขึ้นหากมีการเดินหรือขยับต้นขา สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเป็นได้หลายอย่าง เช่น จากอุบัติเหตุ จากมะเร็ง จากการเสื่อมตามอายุ เป็นต้น

  • หากอาการปวดไม่เยอะมากนักอาจใช้การรักษาโดยการใช้ยาต่างๆ เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยาแก้ปวดกล้ามเนื้อที่มักรู้จักกัน (NSAIDs and COX2 inhibitor) ยาพาราเซตามอล (acetaminophen) หรือกลุ่มแก้ปวดประเภทมอร์ฟีนอย่างอ่อน ได้แก่ ธามาดอล (tramadol) หรือโคดีอีน (codeine) เป็นต้น >> ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการประเมินและปรับยา
  • หากเกิดการหักไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุหรือมะเร็ง อาจต้องทำการผ่าตัด >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อเพื่อทำการประเมิน
  • หากมีการลามของมะเร็งไปบริเวณกระดูกสะโพกอาจต้องใช้วิธีการฉายแสงในการรักษา >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งหรือแพทย์รังสีรักษาเพื่อทำการประเมิน
  • หัตถการระงับปวด เช่น การฉีดยาชาและสเตียรอยด์เข้าไปในบริเวณข้อสะโพก การฉีดยาชาเพื่อระงับความปวดหรือจี้ทำลายเส้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณสะโพก หรือใส่สายยาชาเหนือช่องน้ำไขสันหลังเพื่อระงับปวด >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านระงับปวดเพื่อทำการประเมินและให้ข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากไม่สามารถทำได้ในทุกกรณี

3. ปวดกระดูกก้นกบ (วงสีม่วง) ตำแหน่งที่ปวดจะเป็นตรงกลาง ปวดมากขึ้นเมื่อนั่งทับหรือนั่งเอนไปด้านหลัง สามารถคลำกระดูกส่วนนี้ได้บริเวณรอยต่อก่อนถึงแก้มก้นสองข้าง ปวดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุ ที่พบบ่อยคือล้มก้นกระแทก หรือเป็นจากมะเร็งลามไปกระดูกหรือเกิดจากการอักเสบก็ได้

  • หากสาเหตุเกิดจากการอักเสบหรืออุบัติเหตุ การรักษาเบื้องต้นได้แก่ การทานยาแก้ปวด เช่นยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยาแก้ปวดกล้ามเนื้อที่มักรู้จักกัน (NSAIDs and COX2 inhibitor) เป็นต้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนท่านั่ง เช่นนั่งบนหมอนหลุมเพื่อกระจายไม่ให้น้ำหนักไปลงที่กระดูกก้นกบ หรือใช้วิธีการนั่งโน้มตัวไปข้างหน้า
  • หากอาการไม่ดีขึ้นอาจใช้วิธีการฉีดยาสเตียรอยด์หรือฉีดยาชาเพื่อระงับความรู้สึกบริเวณเส้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณกระดูกก้นกบ >> ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากมีข้อจำกัดและไม่สามารถทำได้ในทุกกรณี
  • หากเป็นจากก้อนหรือมะเร็งลามไปบริเวณกระดูก วิธีการรักษาอาจเป็นการผ่าตัดหรือฉายแสง >> ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

4. ปวดข้างในรูทวารหรือรูก้น (วงสีดำ) ถ้าเป็นปวดภายนอกอาจเกิดจากอาการท้องผูกที่ทำให้เกิดแผลบริเวณหูรูดหรือมีการอักเสบติดเชื้อบริเวณผิวหนัง แต่หากปวดเข้าไปในรูทวาร อาจเป็นอาการปวดที่สัมพันธ์กับมะเร็งหรือการอักเสบเรื้อรังของลำไส้ส่วนปลายหรืออวัยวะในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น

  • รักษาตามอาการเช่น หากเป็นแปลภายนอกหรือเกิดจากท้องผูกอาจใช้วิธีการปรับพฤติกรรมการทานอาหาร ร่วมกับการใช้ยาระบาย หรือหากเป็นอาการปวดที่เกิดจากมะเร็งอาจใช้ยาแก้ปวดกลุ่มต่างๆเช่น มอร์ฟีนหรือยาลดการส่งสัญญาณประสาท (anti-neuropathic drug) ขึ้นกับลักษณะอาการปวดของผู้ป่วย >> ปรึกษาเรื่องการใช้ยาระงับปวดกับแพทย์เฉพาะทางด้านการระงับปวด
  • รักษาโดยการผ่าตัด เช่นการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออก  หรือการฉายแสง/การให้เคมีบำบัดเพื่อลดขนาดก้อน >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งหรือแพทย์ผ่าตัด
  • หัตถการระงับปวดเช่นการฉีดยาทำลายปมประสาทที่รับความรู้สึกบริเวณรูทวาร (impar ganglion neurolysis) หรือหัตถการระงับปวดอื่น >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการระงับปวด

5. ปวดกระดูกอุ้งเชิงกราน (วงสีแดง) ตำแหน่งที่คือบริเวณก้นย้อย เป็นได้จากหลายสาเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น

  • หากสาเหตุเกิดจากการอักเสบหรืออุบัติเหตุ การรักษาเบื้องต้นได้แก่ การทานยาแก้ปวด เช่นยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยาแก้ปวดกล้ามเนื้อที่มักรู้จักกัน (NSAIDs and COX2 inhibitor) เป็นต้น
  • หากเป็นจากมะเร็งลุกลาม อาจมีการใช้ยาแก้ปวดชนิดแรง เช่นมอร์ฟีน >> ปรึกษาแพทย์ระงับปวด
  • หรือรักษาโดยการผ่าตัดหากมีก้อนหรือรักษาโดยการฉายแสง >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็ง

6. ปวดข้อต่ออุ้งเชิงกราน (วงสีเหลือง) มักมีอาการปวดบริเวณด้านในๆของก้นค่อนไปทางด้านบนๆ อาจมีอาการปวดร้าวลงมาได้แต่มักไม่เกินเข่าและไม่ลงถึงเท้าหมายเส้นประสาทถูกกดทับ มักจะสามารถระบุจุดเจ็บชัดเจนได้ มักปวดขณะเปลี่ยนท่าจากนั่งเป็นยืน หรือนั่งนานๆ 

  • การรักษาเบื้องต้นได้แก่การรับประทาน เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยาแก้ปวดกล้ามเนื้อที่มักรู้จักกัน (NSAIDs and COX2 inhibitor) ร่วมกับการทำกายภาพหรือการบริหาร
  • หัตถการระงับปวดโดยการฉีดยาชาและสเตียรอยด์หรือสารลดการอักเสบต่างๆเข้าไปในข้อต่ออุ้งเชิงกราน (SI joint injection) หรือทำการจี้เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณข้อต่อที่ปวด (SI joint rhizotomy) >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการระงับปวดเพื่อประเมิน
  • การผ่าตัดมักเป็นวิธีสุดท้ายหากยังมีอาการปวดอยู่ >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ

7. ปวดกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส (piriformis) มักมีอาการปวดกลางๆก้น ตำแหน่งจะใกล้เคียงกับข้อต่ออุ้งเชิงกราน อาจมีอาการชาลงขาได้เนื่องจากบางครั้งเกิดการกดทับเส้นประสาทไซอาติก (sciatic nerve)

  • การรักษาเบื้องต้นได้แก่การรับประทาน เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยาแก้ปวดกล้ามเนื้อที่มักรู้จักกัน (NSAIDs and COX2 inhibitor) ร่วมกับการทำกายภาพหรือการบริหารที่สามารถยืดหรือคลายกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสได้
  • หากยังมีอาการอยู่สามารถฉีดยาชาเพื่อลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็งได้ (piriformis injection) >> ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านระงับปวด

8. ปวดกล้ามเนื้อบริเวณอื่นของก้น เนื่องจากก้นเป็นบริเวณที่มีกล้ามเนื้อมัดใหญ่เป็นจำนวนมาก จึงอาจมีการอักเสบหรือการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ โดยส่วนใหญ่อาการที่เกิดจากการปวดกล้ามเนื้อมักสามารถระบุได้ชัดเจน เป็นอาการปวดที่สัมพันธ์กับท่าทางใดท่าทางหนึ่ง หรือจะกล่าวว่าเป็นอาการปวดที่เกิดเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นก็ได้

  • การรักษาเบื้องต้นได้แก่การงดกิจกรรมทีทำให้ปวด และรับประทานยาแก้ปวดต่างๆ เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยาแก้ปวดกล้ามเนื้อที่มักรู้จักกัน (NSAIDs and COX2 inhibitor)  รวมถึงการทำกายภาพหรือการออกกำลังกายที่ช่วยให้เกิดการคลายตัวและยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด เป็นต้น
  • หากยังมีอาการปวดอยู่สามารถฉีดยาชาหรือใช้เข็มกระตุ้นเพื่อให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อได้ >> ปรึกษาแพทย์

การวินิจฉัย (diagnosis)

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย : การซักประวัติเบื้องต้นเกี่ยวกับตำแหน่งที่ปวด ระยะเวลา โรคปะรจำตัว หรือท่าทางที่ทำให้ปวดมากขึ้น จะช่วยให้สามารถระบุตำแหน่งและโรคคร่าวๆของการปวดก้นนั้นๆได้ รวมถึงการตรวจร่างกายที่จำเพาะต่อโรคนั้นๆ ในบางโรคสามารถวินิจฉัยได้เลยโดยไม่ต้องต้องส่งตรวจเพิ่มเติม และช่วยวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนการส่งตรวจอื่นๆต่อไป ดังนั้นหากมีอาการปวดก้น การพบแพทย์เพื่อทำการซักประวัติและการตรวจร่างกายก่อนจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการรักษาอาการปวดก้น
  • การส่งวินิจฉัยอื่นๆ เช่นการส่งฟิล์มเอกซเรย์ (plain film x-ray), เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ ส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) นั้น พิจารณาเป็นโรคๆไป ท่านสามารถปรึกษาแพทย์ได้หากต้องการตรวจ