กลับ Academic articles

ภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรังในผู้หญิง
(Chronic Pelvic Pain in women)

ภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain) เป็นอาการปวดเรื้อรังที่พบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์มากกว่าผู้ชาย  ถือเป็นภาวะหนึ่งที่วินิจฉัยและรักษาได้ยาก รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคมของสตรีที่มีอาการมักจะนำไปสู่ภาวะเครียดที่ตามมา ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ภาวะอารมณ์ที่แย่ลง และการหลีกหนีสังคม ผู้ป่วย จะเห็นได้จากการที่ตรวจพบmajor depression ในกลุ่มนี้ถึงร้อยละ 12-33

ตาม American College of Obstetricians and Gynecologists และ ReVITALize data ได้ให้นิยามของภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain) คือ อาการปวดของอวัยวะและโครงสร้างในบริเวณอุ้งเชิงกราน ที่พบนานมากกว่า 6 เดือน  โดยมักจะสัมพันธ์กับ ความคิดและพฤติกรรมเชิงลบ พฤติกรรมทางเพศ และสภาพอารมณ์ของบุคคล 

ลักษณะอาการปวดที่พบส่วนใหญ่จะเป็นแบบ non cyclic pain คือมีอาการปวดตลอด หรืออาจจะปวดเป็นช่วงๆแต่ไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ 

สาเหตุ 

อวัยวะภายในท้องน้อย ช่องท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน (Pelvic cavity) จะประกอบไปด้วย อวัยวะหลายออย่าง ระบบทางเดินปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ไต และท่อไตส่วนล่าง), ลำไส้เล็กส่วนล่าง, ลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง (ลำไส้ตรงทวารหนัก), ไส้ติ่ง, เนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่าง ๆ (เช่น หลอดเลือด เส้นประสาท ระบบน้ำเหลือง กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อพังผืด) และส่วนที่แตกต่างกันไปตามเพศ คือ ในผู้หญิงจะมีมดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ท่อรังไข่ และช่องคลอด  สาเหตุที่พบบ่อยเช่น 

1. Endometriosis (โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่) 

2. Chocolate cyst (ช้อคโกแลตซีสต์)

3. Pelvic adhesions (พังผืดในช่องท้อง)สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการได้รับปารผ่าตัดในช่องท้องหรือการติดเชื้อในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน

4. Chronic pelvic inflammatory disease (PID)เช่น มดลูกปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง

5. เนื้องอกมดลูก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม myoma uteri หรือ adenomyosis 

6. เนื้องอกและถุงน้ำรังไข่ 

7. Pelvic congestion syndrome สันนิษฐานว่าเกิดจากความผิดปกติของ ovarian vein ทำให้ผู้ป่วยอาจมีภาวะปวดมากขึ้นหลังจากยืนเป็นระยะเวลานอน และดีขึ้นเมื่อนอนพัก 

8. ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)

9. เนื้องอกและมะเร็งลำไส้ 

10. การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (chronic or complicated urinary tract infecions)

11. นิ่ว (Bladder stone) 

12. เนื้องอกหรือมะเร็งในทางเดินปัสสาวะ

13. Myofascial pelvic pain syndrome มักมาด้วยอาการปวดของท้องน้อย อวัยวะเพศ ก้น และเมื่อตรวจร่างกายมักพบจุดกดเจ็บ (trigger point) หรือจุดที่ไวต่อการสัมผัส 

14. Fibromyalgia มักมาด้วยอาการปวดทั่ว ๆ จะตรวจพบจุดกดเจ็บหลายๆจุด 

15. Idiopathic chronic pelvic pain จะวินิจฉัยเมื่อได้ประเมินทั้งประวัติ ตรวจร่างกายส่งตรวจเพิ่มเติมแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุของอาการปวดได้ 

การวินิจฉัย 

เนื่องจากสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยมีได้หลากหลาย เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ แพทย์อาจจะต้องใช้เวลาในการหาสาเหตุที่ถูกต้อง โดยจะเริ่มต้นจากการซักถามประวัติต่าง ๆ อย่างละเอียด ทำการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน (อาจต้องปรึกษาแพทย์ต่างแผนกบ้างแล้วแต่ว่าจะนึกถึงโรคอื่นใดนอกเหนือจากโรคทางสตรี) และอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับว่าอาการของผู้ป่วยและการตรวจของแพทย์สงสัยว่าเป็นโรคอะไร ทั้งนี้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและแยกโรค เช่น 

  • Uterine pregnancy test: ในหญิงเจริญพันธ์จำเป็นต้องแยกภาวะตั้งครรภ์ออกก่อนเสมอ  
  • การตรวจปัสสาวะแบบสมบูรณ์ ( Complete urine analysis ) 
  • การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงหรือ อัลตร้าซาวน์ (Ultrasound) 
  • การตรวจภายใน 
  • การตรวจทวารหรือลำไส้ใหญ่ 
  • การตรวจเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ( CT scan) อาจจำเป็นในการช่วยวินิจฉัยแยกโรคโดยพิจารณาเป็นรายๆไป 
  • การส่องกล้องตรวจช่องท้อง (Diagnostic laparoscopy) แพทย์จะเลือกตรวจเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน เนื่องจากผู้ป่วยต้องเข้าห้องผ่าตัดและอาจมีการดมยาสลบ 

การรักษาอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง 

  • การใช้ยารักษา
    • ยาปฏิชีวนะ (ถ้าอาการปวดเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ เช่น มดลูกอักเสบ)
    • ยาลดการอักเสบ (ถ้ามีการอักเสบที่ไม่ติดเชื้อ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่)
    • ยาฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด (เพื่อลดอาการปวดประจำเดือน) 
    • ยากลุ่มลดอาการปวดปลายประสาท หรือยากลุ่มต้านซึมเศร้า   
  • การผ่าตัด เพราะโรคบางอย่างต้องรักษาโดยการผ่าตัด เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ในอุ้งเชิงกราน หรือในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยพบจากการส่องกล้องผ่านช่องท้องนั้น ในปัจจุบันแพทย์มักจะให้การรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้องไปพร้อมกันในคราวเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเลาะพังผืด การเลาะถุงน้ำรังไข่ รวมไปถึงการผ่าตัดมดลูกและปีกมดลูก
  • การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การให้ยาคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ การฉีดยาชาเฉพาะที่ การให้กายภาพบำบัด การสอนให้มีการออกกำลังกาย การฝึกท่าทางการเดินการนั่ง ฯลฯ

การวินิจฉัยหาสาเหตุเรื่องของปวดท้องน้อย บางครั้งจึงจำเป็นต้องมีแพทย์หลายๆแผนก มาร่วมกันในการดูแลรักษา เช่น อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์ทั่วไป ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ รังสีแพทย์ ดังนั้น ผู้ป่วยอาจจะยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโดยทันทีที่มาพบแพทย์ แต่สิ่งที่ผู้ป่วยจะสามารถช่วยแพทย์ได้ คือจะต้องสังเกตให้ได้ว่า มีเหตุใดที่เป็นตัวกระตุ้นให้อาการปวดมากขึ้น และหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ นอกจากนี้ ผู้ป่วยไม่ควรที่จะเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาเร็วเกินไป เพราะหลายโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการวินิจฉัยและไม่ได้รักษาให้หายได้ในเวลาไม่กี่วัน และโรคบางชนิดยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ สุดท้ายนี้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพบแพทย์เฉพาะด้านเพื่อหาสาเหตุและรักษาที่เหมาะสมต่อไป 

เอกสารอ้างอิง

  1. ACOG PRACTICE BULLETIN: Chronic Pelvic Pain, the American College of Obstetricians and Gynecologists: Vol. 135, no. 3 (e98-e103); March 2020
  2. Ayorinde AA, Bhattacharya S, Druce KL, Jones GT, Macfarlane GJ. Chronic pelvic pain in women of reproductive and post-reproductive age: a population-based study. Eur J Pain 2017;21:445–55
  3. Ahangari A. Prevalence of chronic pelvic pain among women: an updated review. Pain Physician 2014; 17:E141
  4. Gunter J. Chronic pelvic pain: an integrated approach to diagnosis and treatment. Obstet Gynecol Surv 2003;58: 615–23